doom eternal รีวิว ถ้าหากนับตามอายุขัยแล้ว เกมประเภทเดินหน้ายิงหรือ First Person Shooting (FPS) ก็มีขวบปีที่จะย่างใกล้สามสิบเข้าไปทุกขณะ มันคือหนึ่งในแนวเกมที่ยืนยงคงกระพันนับตั้งแต่การปรากฏตัวครั้งแรกของมันผ่านงานจากทีม id Software เช่น Wolfenstein 3D ในปี 1992 และผ่านการเติบโต วิวัฒน์พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผสมผสานเข้ากับแนวอื่นๆ จนเป็นภาพจำที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ความเป็นมาของ doom eternal รีวิว
doom eternal รีวิว และชื่อของ ‘Doom’ ก็เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่ยังได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอ ด้วยบทแอ็คชันอันรวดเร็วสุดระห่ำ เทคโนโลยีด้านภาพที่ล้ำยุค (ในช่วงเวลานั้น) เพียงแค่สององค์ประกอบ ก็ทำให้มันติดลมบนจนเป็นที่กล่าวขาน และก้าวเข้าสู่สถานะของความเป็น ‘ตำนาน’ แห่งเกม FPS ที่แม้แต่คนที่เกิดไม่ทัน ก็ต้องเคยได้ยินชื่อ หรือรับรู้การดำรงอยู่ของมันกันบ้าง ไม่มากก็น้อย (แถมลงมันทุกระบบตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด จนถึงแพลทฟอร์มขนาดพกพาอย่าง Game Boy Advanced และ Nintendo Switch หรือแม้แต่ดัดแปลง Homebrew ไปเล่นบนเครื่องคิดเลขดิจิตอล!)
แน่นอนว่ามันเคยพลาดพลั้งผิดจังหวะกันไปบ้าง กับผลงานอย่าง Doom 3 ในปี 2004 ที่ทางผู้พัฒนาคิดลองของให้มันเป็นเกมสยองเปิดไฟฉาย (แต่ก็ยังประสบความสำเร็จในยอดขายและเสียงวิจารณ์) และห่างหายไปจากแวดวงเป็นเวลาเกือบสิบสองปี ก่อนที่ ‘Doom’ จะกลับมาอีกครั้งในปี 2016 และสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ เมื่อมันกลับสู่รากเหง้าที่แท้จริงของความคลาสสิคสุดระห่ำ ตอกย้ำความเหนือชั้นด้วยจิตวิญญาณดั้งเดิมที่เพิ่มเติมด้วยเทคนิคและลูกเล่นแบบที่เกมยุคสมัยโมเดิร์นพึงมีและพึงเป็น
จากวันนั้น สี่ปีผ่านไป (และผ่านการเลื่อนการวางจำหน่ายไปหนึ่งรอบ) Doom Eternal คือการต่อยอดในแนวทางที่แผ้วถางเอาไว้ก่อนหน้าได้อย่างชัดเจนยิ่ง เมื่อความระห่ำนั้นถูกทวีคูณขึ้นอีกสามเท่า เสริมรสแต่งแต้มสีสันด้วยเทคโนโลยี การบอกเล่าเนื้อหา ดนตรีประกอบ งานศิลป์ และเกมการเล่นอันสุดเร้าใจ เป็น ‘บัลเล่ต์แห่งความตาย’ ที่ราวกับจะเป็นการยืนหนึ่งอย่างท้าทาย ว่าในท้ายที่สุด ซีรีส์นี้ก็พร้อมจะทวงถามที่ทางของมันบนบัลลังก์แห่งราชาเหนือเกม FPS ทั้งปวง ดังที่มันเคยเป็น และจะยังคงเป็นโดยตลอดมา
ส่วนเนื้อหา
Doom Eternal สานต่อเรื่องราวจากภาคปี 2016 เมื่อกองทัพจากนรกรุกรานโลก เข่นฆ่าประชากรไปกว่าครึ่ง และเปลี่ยนพื้นพิภพให้เดือดไปด้วยไฟประลัยกัลป์ และเป็นอีกครั้ง ที่ ‘Doom Slayer’ ผู้พิฆาต จะต้องออกมากอบกู้วิกฤติครั้งนี้ ในการเดินทางผจญภัยที่ไม่เพียงแต่จะพาเขาไปสู่นรกขุมที่ลึกที่สุด แต่ยังไต่ขึ้นสู่บันไดแห่งสวรรค์ที่สูงที่สุด ท้าทายการคงอยู่ของสามโลกที่จะสั่นคลอนความเป็นไปของทุกสิ่งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในเบื้องต้น ต้องชื่นชมทีมเขียนบทของ id Software เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาจะสานต่อเนื้อหาที่รจนาเอาไว้จากภาค 2016 ได้อย่างละเมียดละไม แต่ยังมาพร้อมการนำเสนอผ่านคัทซีน ปูมบันทึก และการเรียงลำดับเรื่องราวได้อย่างหมดจด มันคือการขยายขอบเขตของการบอกเล่าที่ไปได้ไกลกว่า ที่จะพาผู้เล่นไปพบกับโลกที่ถูกเผาผลาญด้วยกองทัพปิศาจ, ขุมนรกที่ลึกที่สุด และสวรรค์ชั้นที่สูงที่สุด พร้อมผสมผสานพื้นหลังที่มาที่ไปของ Doom Slayer ให้มีมิติและมีความ ‘กลม’ ในฐานะตัวละครหลัก ที่เชื่อมโยงกับเกมภาคก่อนๆ อย่าง Doom, Doom 2 และ Doom 64 ให้มากขึ้นกว่าเดิม
มันคือปกรณัมแห่งสามโลก เป็นการตีความสงครามนรกสวรรค์ในแบบใหม่ และอาจจะเป็นหนึ่งในเกมซีรีส์ Doom ที่มีเนื้อเรื่องที่เฉียบคมที่สุดเท่าที่มันเคยสร้างมาในตลอดระยะเวลาเกือบสามสิบปีเลยก็เป็นได้ พร้อมกันนั้น มันยังมีความ ‘ยั่วล้อ’ ตัวเองในแบบที่ไม่ซีเรียส ด้วยการยัดไส้ Easter Egg และ Reference จาก Doom ภาคเก่าก่อนและเกมของ id Software อันหลากหลาย ประหนึ่งว่าจะทำลายเส้นแบ่งระหว่างความจริงจังและความไม่เอาสาระ ที่ทำออกมาได้อย่างเรียบเนียน และน่ารักหยิกแกมหยอกอยู่ไม่น้อย
ระบบการเล่น
แต่ก็เช่นเดียวกับ Doom ในทุกภาค การดำรงอยู่ของเนื้อหาอาจจะไม่ใช่สาระสำคัญเมื่อเทียบกับเกมการเล่น (ซึ่งผู้เล่นอาจจะไม่ต้องสนใจด้วยซ้ำว่ามันจะถูกบอกเล่าออกมาอย่างไรตราบเท่าที่มีกองทัพปิศาจออกมาให้ฆ่า ตัด เฉือน) และ Eternal ก็พร้อมจัดให้ ในความระห่ำที่มากยิ่งกว่าภาคเก่าก่อน บอกลาได้เลยกับการสู้รบในพื้นที่ปิดแบบครั้งต่อครั้ง เพราะทุกการปะทะ มันคือความเดือดของการฆ่าและการทำลายล้าง
ที่เหล่าปิศาจได้ขนกองทัพแทบจะหมดนรกมาเพื่อบดขยี้ Doom Slayer รอบทิศทางอย่างไม่มียั้ง (ซึ่งทำให้เกมโหดขึ้นกว่าภาคที่แล้วอีกสามเท่า…) ผ่านงานออกแบบ Level Design ที่เพิ่มพื้นที่สนามแห่งการสังหารให้มีมิติและเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น มี Secret และลูกเล่นมากขึ้น และเริ่มต้นอย่างเร้าใจนับตั้งแต่ฉากแรกจนถึงฉากสุดท้าย
เหล่านี้ ถูกเสริมความสะใจไปด้วยดนตรีเมทัลระดับจัดหนักโดยฝีมือของ Mick Gordon ประพันธกรมือเอกคู่บุญของค่าย ที่จะทำให้อะดรีนาลีนของผู้เล่นถูกสูบฉีดจนถึงขีดสุดในทุกการปะทะ เป็นโมเมนตัมของมหกรรมการเข่นฆ่าที่แทบไม่ทำให้ผู้เล่นได้หยุดพักหายใจ และมากยิ่งกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมาพร้อมกันนั้น ในความคลาสสิคของการปะทะที่เร้าใจ มันก็ยังไม่ลืมหัวใจของเกมแบบโมเดิร์น ด้วยลูกเล่นของการอัพเกรดอาวุธ ความสามารถ และท่วงท่าของ
Doom Slayer ผ่านไอเทมที่มีให้เลือกเก็บและ Challenge ให้เลือกทำ ทุกอาวุธต่างมีโหมดที่สองเพื่อตอบสนองต่อการประหัตประหารได้ตามสถานการณ์ ไม่มีอีกแล้วกับอาวุธที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งเดียว เพราะศัตรูที่แตกต่าง ย่อมต้องการอุปกรณ์ในการสังหารที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ทุกอาวุธต่างมีอรรถประโยชน์ใช้สอย แน่นอนว่ามันอาจจะชวนให้สับสนในเบื้องแรก ที่ต้องคอยสับเปลี่ยนมันอยู่บ่อยครั้ง (ท่ามกลางสนามแห่งการฆ่าที่ทุกวินาทีนั้นมีค่า และการเคลื่อนไหวหรือหยุดนิ่งอาจหมายถึงการอยู่รอดหรือความตาย)
สรุป
แต่โดยสรุป แม้จะมีข้อเสียที่ชวนให้ขัดใจ แต่ Doom Eternal ก็คือสิ่งที่ตอกย้ำความอยู่มือและความไม่เป็นสองรองใครของทีม id Software ผู้ให้กำเนิดเกมแนว First Person Shooting ที่ปรับตัวตามยุคสมัย โดยที่ไม่ลืมซึ่งแก่นหลักและหัวใจที่ทำให้ซีรีส์ Doom นั้นยืนยงคงกระพันมาอย่างยาวนาน ที่มีแต่จะมากขึ้น ระห่ำขึ้น และเดือดขึ้นอย่างที่เกมแนวเดียวกันยุคสมัยใหม่ได้แต่มองด้วยความตกตะลึง ทึ่ง
และอึ้งว่าสิ่งเก่าเหล่านี้จะสามารถวิวัฒน์ให้มายืนหยัดได้อย่างองอาจและท้าทายได้อย่างไม่เกรงกลัวใครมันคือการเข่นฆ่าที่งดงามราวกับฟลอร์ของบัลเล่ต์แห่งความตาย และเท่ไปด้วยสไตล์ที่เปลี่ยนการทำลายล้างให้กลายเป็นงานศิลปะ ที่มีแต่ id Software เท่านั้นที่จะกล้า และสามารถทำได้เฉกเช่นเดียวกับภารกิจของ Doom Slayer ผู้ยอมปวารณาตน ดำดิ่งไปสู่ขุมนรกที่ลึกที่สุด และไต่บันไดสวรรค์ที่สูงที่สุด
เพื่อหยุดยั้งและทำลายกองทัพปิศาจ ล้างบางเหล่าเทวฑูต และปกป้องมนุษยชาติอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่มีหยุด และไม่คำนึงถึงปลายทางใดๆ…และ Doom Eternalจะทำให้ชื่อของ Doom ยังคงสถิตอยู่ในใจของนักเล่น และแวดวงวิดีโอเกมในเวลาถัดจากนี้ต่อไป….ชั่วนิรันดร์